สนับสนุนเนื้อหา
ใครที่ชอบวางสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ๆ ตัว คงต้องปรับพฤติกรรมกันใหม่ เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา พบว่ามือถือส่งผลต่อการทำงานของสมองได้
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เอเดรียน วอร์ด ผู้ร่วมทำการวิจัยดังกล่าว ทดลองให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนเกือบ 800 คน นั่งทำแบบทดสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งทุกคนจะถูกสุ่มให้วางโทรศัพท์มือถือในที่ต่างๆ กัน ทั้งวางคว่ำหน้าไว้บนโต๊ะ ใส่ไว้ในกระเป๋า หรือวางไว้อีกห้องหนึ่ง แต่ทุกคนจะต้องปิดเสียงโทรศัพท์เหมือนกันหมด
ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมทำแบบทดสอบที่วางมือถือไว้อีกห้องหนึ่งกลับทำแบบทดสอบได้ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับคนที่วางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะ และทำแบบทดสอบได้ดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่เก็บมือถือไว้ในกระเป๋า
ขณะที่อีกการทดลองหนึ่ง เป็นการดูพฤติกรรมการติดมือถือของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างการทำแบบทดสอบ โดยให้วางมือถือในที่ต่างๆ กัน คือ วางหงายบนโต๊ะ ใส่ไว้ในกระเป๋า หรือวางไว้อีกห้องหนึ่ง และการทดลองนี้มีบางคนที่ถูกสุ่มให้ปิดมือถือด้วย ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ร่วมทำแบบทดสอบที่มีพฤติกรรมติดมือถือ หรือวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัวจะทำแบบทดสอบได้แย่กว่าคนที่วางมือถือไว้ไกลตัว
Кrezun เขียนเกี่ยวกับงานวิจัยนี้บนเว็บไซต์ของเขา
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ไม่ว่าจะปิดหรือเปิดโทรศัพท์, วางคว่ำหน้าหรือหงายไว้บนโต๊ะ ล้วนได้ผลการทดลองที่ไม่ต่างกัน แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อสมองคือระยะห่างในการวางมือถือ ซึ่งการวางสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ตัว ทำให้ส่วนหนึ่งของสมองไปพะวงหรือคิดถึงมือถือตลอดเวลา จึงไปบั่นทอนพลังสมอง และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว แต่ถ้าไม่อยากให้สมองต้องทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง อย่างน้อยๆ ช่วงเวลานอนที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับใคร วางมือถือให้ไกลตัวหน่อยก็คงจะดี